จุดกำเนิด ปาท่องโก๋
แป้งที่นำมาจับคู่และทอดในน้ำมันที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อของ “ปาท่องโก๋” เป็นอาหารยอดนิยมที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของอาหารมื้อเช้า หลายคนมักจะรับประทานพร้อมกับโจ๊กอุ่นๆ หรือกินคู่กับกาแฟร้อนๆ สักแก้ว ก็ทำให้มื้อเช้านั้นกลายเป็นมื้อที่อร่อยได้ สำหรับชาวจีนแต้จิ๋วแล้วจะเรียกอาหารชนิดนี้ว่า “อิ่วจาก้วย” ชาวจีนฮกเกี๊ยนจะเรียกว่า “อิ่วเจี่ยโก้ย” และภาษาจีนกลางเรียกว่า “โหย๋วเที๋ยว”
ความเป็นมาของอาหารชนิดนี้ย้อนกลับไปในสมัยซ่งใต้ แม่ทัพงักฮุยเป็นแม่ทัพที่ซื่อสัตย์ มีความเก่งกาจและมีความสามารถในด้านการรบเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาดังกล่าวแผ่นดินจีนต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากชนเผ่าต่างๆ ที่สร้างดินแดนของตนเองพร้อมกับยกทัพเข้ามาแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรตลอดเวลา อีกทั้งราชสำนักซ่งยึดคติรวมอำนาจทหารเข้ามาที่ศูนย์กลาง เน้นที่ขุนนางฝ่ายบุ๋นมากกว่าฝ่ายบู๋ ทำให้กองทัพอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก แต่เมื่อแม่ทัพงักฮุยสามารถที่จะต่อสู้และขับไล่ข้าศึกออกไปได้ ทำให้ประชาชนยกย่องเป็นอย่างมาก
แต่การที่มีความสามารถโดดเด่นย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น โดยเฉพาะขุนนางกังฉินที่มีชื่อว่า ฉินข้วย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ภรรยาของฉินข้วยจึงได้เสนอแนะแผนการณ์ให้สามีไปยุยงฮ่องเต้ให้เกิดความไม่มั่นใจ คิดว่าแม่ทัพงักฮุยคิดไม่ซื่อ จึงเรียกตัวกลับมาจากชายแดน และใส่ร้ายป้ายสีแม่ทัพจนถูกประหารชีวิตในที่สุด
เนื่องจากประชาชนมีความรักในตัวแม่ทัพงักฮุยเป็นอย่างมาก จึงพากันโกรธแค้นและสาปแช่งฉินข้วยและภรรยา แต่ก็ไม่อาจที่จะทำอะไรทั้งสองได้ ดังนั้นประชาชนจึงนำแผ่นแป้งมาประกบคู่กันและนำลงไปทอดในน้ำมัน พร้อมกับสาปแช่งสามีภรรยาคู่นี้ไปด้วย โดยเรียกอาหารชนิดนี้ว่า อิ๋วจาก้วย ที่มีความหมายว่า น้ำมันทอดฉินข้วย และสร้างรูปปั้นฉินข้วยและภรรยาในท่าทางคุกเข่าต่อหน้าสุสานของแม่ทัพงักฮุย
แต่สาเหตุที่คนไทยเรียกอาหารชนิดนี้ว่า ปาท่องโก๋ เป็นเพราะว่าในสมัยก่อนร้านที่ขายอิ๋วจาก๊วยนั้นมักจะขายแป้งทอดราดน้ำตาลที่เรียกว่า ปาท่องโก๋ ด้วย จึงเกิดการสับสนและจำผิดว่า ปาท่องโก๋ หมายถึง อิ๋วจาก๊วย นี้เอง แต่ในจังหวัดทางภาคใต้ยังมีอยู่บ้างที่เรียกตามชื่อเดิมว่า อิ๋วจาก๊วย
ในประเทศไทยนอกจากจะรับประทานเปล่าๆ หรือรับประทานกับโจ๊กหรือกาแฟแล้ว ยังนิยมรับประทานคู่กับนมข้นหวานหรือสังขยาด้วย ซึ่งก็อร่อยและเหมาะที่จะเป็นของหวานได้เช่นกัน