หมากล้อม เกมกระดานยอดนิยม
หมากล้อมเป็นเกมกระดานรูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมอย่างมากในหลายประเทศ โดยมีจุดกำเนิดมาจากประเทศจีนเมื่อประมาณ 3,000 – 4,000 ปีก่อน และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 ศิลปะประจำชาติของจีน ที่ประกอบได้ด้วยหมากล้อม ดนตรี กลอน และภาพ
ภาพการเล่นหมากล้อมในสมัยโบราณ
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับจุดกำเนิดของหมากล้อมว่า ในสมัยโบราณพระจักรพรรดิทรงมีองค์ชายอยู่องค์หนึ่งที่เป็นถึงรัชทายาท แต่ขี้เกียจและดูไร้ความสามารถ พระจักรพรรดิทรงวิตกกังวลเป็นอย่างมาก จึงปรึกษากับเหล่าขุนนางเพื่อที่จะหาทางสั่งสอนองค์ชายให้มีความรู้ความสามารถในการเป็นผู้ปกครองในอนาคต ในขณะนั้นมีขุนนางคนหนึ่งเสนอเกมหมากล้อมขึ้น เพื่อใช้สอนในเรื่องความคิดให้กับองค์ชาย แต่เมื่อให้องค์ชายทดลองเล่น ปรากฏว่าองค์ชายไม่ชอบและตัดสินว่าเกมนี้เล่นไม่ยาก แค่ใครเป็นฝ่ายเล่นก่อนก็เป็นฝ่ายชนะ ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อพระจักรพรรดิทรงทราบเรื่องจึงท้อใจและปลดองค์ชายองค์นี้ออกจากตำแหน่งรัชทายาทและหาองค์ชายองค์อื่นมาดำรงตำแหน่งแทน
ในประเทศจีนจะเรียกหมากล้อมว่า เหวยฉี (圍棋) คำว่า ฉี เป็นคำที่ใช้เรียกเกมกระดานต่างๆ และคำว่า เหวย หมายถึง การล้อม แต่คำเรียกเกมกระดานชนิดนี้ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือคำว่า โกะ ที่เป็นชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่น
หมากล้อมเป็นที่นิยมในประเทศจีน ในสมัยก่อนผู้ปกครองและแม่ทัพมักนิยมเล่นเพื่อทดสอบและประลองฝีมือทางปัญญากัน เช่นที่เราจะพบเห็นได้ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องต่างๆ เช่น สามก๊ก เป็นต้น ก่อนที่หมากล้อมจะแพร่หลายไปยังสถานที่ต่างๆ และเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่น (บางตำราบอกว่าผู้ที่นำไปเผยแพร่คือทูต และบางตำราบอกว่าผู้ที่นำเข้าไปคือพระที่มาศึกษาด้านศาสนาในประเทศจีน)
หมากล้อมนอกจากจะเป็นการละเล่นเพื่อทดลองปัญญากันแล้ว ยังเข้ากันได้ดีกับแนวคิดเซนที่ญี่ปุ่นยึดถือปฏิบัติ จึงได้รับการส่งเสริมให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เหล่าชนชั้นสูงต่างก็นิยมเล่นหมากล้อม ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ โชกุน ขุนนาง แม่ทัพ ตลอดจนประชาชนทั่วไป มีการจัดการแข่งขันเพื่อหาผู้มีความสามารถอยู่เป็นประจำ และเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยโทคุงาวะ หมากล้อมก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมาก มีการตั้งสำนักการเรียนหมากล้อมถึง 4 สำนัก และเปิดโอกาสให้แต่ละสำนักส่งตัวแทนมาแข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งเมย์จิน ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงสุด
แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีช่วงที่หมากล้อมเสื่อมความนิยมไป เนื่องจากพระจักรพรรดิได้มีการสั่งห้ามการละเล่นชนิดนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้รับการฟื้นฟูกลับมาและพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนเมื่อปี พ.ศ. 2522 มีการจัดตั้งสมาคมหมากล้อมนานาชาติขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยเข้าร่วมสมาคมนี้เมื่อปี พ.ศ. 2526
หมากล้อมได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นการละเล่นที่ส่งเสริมความคิดได้เป็นอย่างดี พัฒนาความสงบ ใจเย็น และการสังเกตรอบข้างได้ดีขึ้น การเล่นหมากล้อมยังเป็นการเรียนรู้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ การรู้จักวางแผนเพื่อให้ได้เปรียบในการละเล่น
ในประเทศไทยมีการบรรจุหมากล้อมเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง โดยมีสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล และในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ หมากล้อมยังเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ทำการแข่งขันกันมาโดยตลอด
กติกาการละเล่นหมากล้อม
การเล่นหมากล้อมมีอุปกรณ์เพียงเม็ดหมากที่แบ่งออกเป็นสีขาวและสีดำ กับกระดานเท่านั้น โดยกระดานที่ใช้ในการละเล่นหมากล้อมเป็นกระดาษที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการลากเส้นตรงตัดกันหลายเส้น โดยมีขนาดมาตรฐานคือ 19 x 19 (หมายถึง เส้นแนวนอน 19 เส้น และเส้นแนวตั้ง 19 เส้น ที่ลากโดยมีระยะห่างเท่ากันตัดกันทั้งหมด ทำให้เกิดจุดทั้งหมด 361 จุด) และขนาดที่นิยมเล่นกันคือ 13 x 13 และ 9 x 9
การเล่นเริ่มจากการทายหมาก โดยเป็นการทายว่าใครจะได้ถือหมากดำที่จะเป็นฝ่ายเริ่มเดินก่อน ด้วยการหยิบเม็ดหมากจำนวนหนึ่ง และให้อีกฝ่ายทายว่าเป็นจำนวนคี่หรือจำนวนคู่ หากทายถูกจะได้ถือหมากดำ และหากทายผิดอีกฝ่ายจะได้ถือหมากดำซึ่งจะเป็นฝ่ายเริ่มเดินก่อน การเล่นจะเป็นการผลัดกันวางเม็ดหมากลงบนจุดตัดของกระดาน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
เม็ดหมากที่วางลงไปจะถือว่ามี 4 ลมหายใจ คือ เส้นที่ลากต่อออกมาทั้ง 4 ทิศ หากโดนอีกฝ่ายล้อมรอบจนหมดถือว่าหมดลมหายใจ และให้นำออกไปเป็นหมากเชลย หากไม่อยากให้ถูกล้อมต้องวางเม็ดหมากต่อจากหมากนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มลมหายใจ ซึ่งอีกฝ่ายที่จะกินหมากชุดนั้นจะต้องบอกเตือนก่อน เหมือนกันกับการบอก “รุก” ในการเล่นหมากรุกของไทย
การเล่นหมากแต่ละกระดานนั้นไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน เกมจะจบลงเมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นว่าไม่มีเม็ดหมากจะเดินต่อได้อีก แต่ในการแข่งขันแบบเป็นทางการนั้นอาจจะมีการกำหนดเวลาขึ้นก็ได้ จากนั้นจะจัดพื้นที่ให้สะดวกต่อการนับ และนำเม็ดหมากเชลยลดพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม และนับพื้นที่จุดตัดของฝ่ายตน โดยกติกาปัจจุบันกำหนดว่า ฝ่ายที่ถือหมากดำจะต้องให้แต้มต่อฝ่ายตรงข้าม 6.5 แต้ม (แล้วแต่กติกาที่กำหนดของแต่ละประเทศ) เนื่องจากฝ่ายที่ถือหมากดำจะได้เดินก่อน และเป็นผู้ที่ได้เปรียบในการเล่น จึงมีกติกานี้ขึ้น หรือเกมอาจจะจบลงเมื่อเห็นว่าไม่สามารถต่อสู้ได้อีกจึงประกาศยอมแพ้
หมากล้อมมีการแบ่งระดับชั้นความสามารถของผู้เล่น โดยเริ่มจาก “คิว” จากคิวที่มาก เช่น 8 คิว มาจนถึงคิวที่น้อย เช่น 1 คิว โดยยิ่งคิวน้อยก็จะมีความสามารถสูงกว่าผู้ที่มีคิวมาก และเมื่อทำการทดสอบผ่านที่ทางสมาคมแต่ละประเทศกำหนดแล้ว จะได้รับการเรียกระดับชั้นว่า “ดั้ง” โดยเริ่มจาก 1 ดั้ง ไปจนถึง 9 ดั้ง
การเล่นหมากล้อมหากผู้ที่มีความสามารถแตกต่างกันมากเกินไป สามารถที่จะต่อรองได้โดยผู้ที่มีระดับชั้นต่ำกว่าจะวางเม็ดหมากเพิ่มในตอนเริ่มเกม
หมากล้อมได้รับการยอมรับให้เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถเล่นได้ เนื่องจากเป็นการเล่นโดยใช้เพียงความคิดในการต่อสู้ ไม่ใช่ความสามารถทางด้านกายภาพแต่อย่างใด
ขอบคุณภาพจาก
epochtimes.com
guoxue.com
go.yenching.edu.hk
redhooklibrary.org