สามก๊ก ไม่ได้มีเพียงแบบที่เรารู้จัก
หากพูดถึงเรื่องราวของสามก๊กแล้ว เชื่อว่าเกือบทุกคนในประเทศไทยจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นเนื้อหาในบทเรียนของนักเรียนแล้ว ยังมีการนำเสนอในอีกหลายด้านอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นงิ้ว ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือจะเป็นหนังสือที่มีออกมาหลายลักษณะการดำเนินเรื่อง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือตัวละครในเรื่องสามก๊กที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นยังมีประวัติที่น่าสนใจและได้รับยกย่องเป็นอย่างมากอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น กวนอู น้องร่วมสาบานของเล่าปี่และเตียวหุย ซึ่งเรื่องราวความกล้าหาญ และนิสัยที่ซื่อตรงทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ มีการสร้างศาลเจ้าเพื่อสักการะบูชาในหลายที่ หรือหมอฮูโต๋ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอเทวดา และบุคคลที่รู้จักกันดีในประเทศไทยคือ ขงเบ้ง ยอดกุนซือแห่งจ๊กก๊ก ที่ได้รับการยกย่องในด้านของสติปัญญา ความสามารถเป็นอย่างมาก
เรื่องสามก๊กนี้คือเหตุการณ์ที่เจอขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่น ที่ฮ่องเต้มีความอ่อนแอ เหล่าขุนนางกังฉินขึ้นมาฉวยประโยชน์เป็นของตนเอง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจจนในที่สุดแผ่นดินได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
แต่เรื่องราวของสาม๊กที่คนไทยรู้จักดีนั้น คือฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน ซึ่งแปลมาจากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง 三国之通俗演義 (ซันกั๋วจื้อทงสูเหยี่ยน) ประพันธ์โดย 羅貫中 (หลอกว้านตง , ล่อกวนตง) นักปราชญ์และนักประพันธ์ชาวจีน ที่อยู่ในช่วงสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นการนำเรื่องราวในช่วงสามก๊กและเรื่องเล่าที่เล่าสืบทอดกันจากชาวบ้านมาแต่งเสริมเพิ่มเติม โดยยกให้ฝ่ายจ๊กก๊กเป็นฝ่ายตัวละครเอก
และยังมีสามก๊กในอีกหลายประเภทอีกด้วย เช่น 三国志 (ซันกั๋วจื้อ) หรือจดหมายเหตุสามก๊ก ที่บันทึกโดนตันซิ่ว ในช่วงสมัยราชวงศ์จิ้น หรือ 三国之评话 (ซันกั๋วจื้อผิงฮว่า) ที่นำเรื่องราวมาเชื่อมโยงกับตำนานความเชื่อของลัทธิเต๋า และเรื่องของไซฮั่นมาเชื่อมโยง คือการกลับชาติมาเกิดใหม่ของบุคคลในช่วงก่อสร้างราชวงศ์ฮั่น เป็นต้น
ถึงเรื่องราวของสามก๊กจะมีความสนุกสนานมาก แต่ก็เป็นเรื่องราวที่ยาวซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับเด็กๆเท่าไรนัก ซึ่งหลายท่านต่างพยายามที่จะดึงดูดนักอ่านกลุ่มนี้ด้วยการนำเสนอเป็นเรื่องราวของการ์ตูน เช่นของเฉินเหว่ยตง ที่มีภาพที่สวยงามน่าอ่าน เป็นต้น