ประเพณีการแต่งงานของชาวจีน
การแต่งงานของชาวจีนนั้นมีประเพณีและขั้นตอนการปฏิบัติที่มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาช้านาน โดยในแต่ละท้องถิ่นก็อาจจะมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วเนื้อหาหลักๆ จะคล้ายกัน ซึ่งขนบธรรมเนียนประเพณีการแต่งงานของชาวจีนมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- จับคู่ โดยนำวันเดือนปีเกิดของชายและหญิงมาตรวจชะตาว่ามีความสมพงศ์กันหรือไม่
- วางของหมั้นชุดเล็ก คือการมอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักให้กำไลทองและเครื่องนุ่งห่ม
- ทำความรู้จัก เป็นการนัดหมายให้ทั้งสองได้พบเจอกัน
- ดูฤกษ์ยาม การหาฤกษ์ยามที่ดีและเป็นมงคล เพื่อที่จะจัดพิธี
- วางของหมั้นชุดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นสินสอดด้วยต้องจัดพิธีการที่ยิ่งใหญ่ ส่วนของหมั้นเป็นสิ่งของประเภทใกล้เคียงกับของหมั้นชุดเล็ก
- สู่ขอ เจ้าบ่าวจัดขบวนแห่เพื่อไปสู่ขอเจ้าสาวด้วยตนเอง
- จุดประทัด มีที่มาจากความเชื่อที่ว่า เสียงประทัดยิ่งดังมากเท่าไร ชีวิตก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น
- ไหว้ฟ้าดิน เป็นพิธีที่สำคัญมากในการแต่งงาน (คงเคยเห็นกันบ่อยๆ ในละครจีน) เป็นการแสดงถึงความเคารพที่คู่สามีภรรยามีให้กับบรรพบุรุษและบิดามารดา
- แลกแก้วสุรา เป็นการคล้องแขนแล้วดื่มสุรามงคลพร้อมกัน บางท้องถิ่นในเวลาที่เด็กเกิดจะมีการซื้อสุรามาฝังหมักไว้ใต้ดิน เพื่อนำมาแจกจ่ายในพิธีแต่งงาน
- ปลุกห้องเจ้าสาว เป็นพิธีการหนึ่งที่แขกในงานกระทำต่อคู่บ่าวสาวอย่างสนุกสนานครื้นเครง โดยในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างกันไป
- คารวะบรรพบุรุษ การไม่ไหว้บรรพบุรุษจะไม่ถือว่าได้แต่งงานแล้ว
- เยี่ยมบ้านเจ้าสาว หลังจากแต่งงานแล้ว สามวัน เจ็ดวัน หรือเก้าวัน แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละครอบครัว ลูกเขยจะต้องไปเยี่ยมบ้านฝ่ายหญิงด้วยกัน
หลังจากที่ได้แต่งงาน หรือหลังจากไหว้บรรพบุรษและญาติพี่น้องในวันตรุษจีน ฝ่ายชายจะต้อง “รวมญาติ” คือ การเชิญญาติพี่น้องฝ่ายหญิงมาร่วมรับประทานอาหารร่วมกับญาติฝ่ายชายที่บ้านฝ่ายชาย ซึ่งถือเป็นมารยาทสำคัญที่ฝ่ายชายพึงกระทำ
ในสมัยก่อนการที่เจ้าสาวจะแต่งงานต้องมีผ้าแดงคลุมหน้าไว้ เมื่อเข้าสู่ห้องหอแล้วเจ้าบ่าวจะเป็นคนเปิดผ้าคลุมด้วยตัวเอง โดยมีที่มาจากตำนานว่า ในตอนที่จักรวาลเพิ่งถือกำเนิดขึ้น มีเพียงเทพบุตรและเทพธิดาเท่านั้น เพื่อที่จะให้กำเนิดมนุษย์ พวกเขาจะต้องแต่งงานกันเสียก่อน แต่ด้วยความกระดากอาย เทพบุตรและเทพธิดาจึงอธิษฐานต่อฟ้า หากฟ้าเห็นด้วยกับการแต่งงานของพวกเขา ก็ขอให้เมฆมารวมกัน เมื่อสิ้นเสียงอธิษฐาน เมฆก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวมารวมกันเป็นก้อน เมื่อได้แต่งงานเทพธิดารู้สึกเขินอาย จึงนำพัดสานมาบังหน้า แต่ในเวลาต่อมาจึงนำผ้าคุลมสีแดงมาแทนเพราะสวยงามกว่า
หลังจากเข้าห้องหอแล้ว เจ้าบ่าวจะใช้คันชั่งเปิดผ้าคลุมสีแดงของเจ้าสาวออก ซึ่งหมายถึงการสมปรารถนา บางตระกูลจะให้พ่อของเจ้าบ่าวเป็นผู้ใช้คันชั่งเปิดผ้าคลุมหน้าของเจ้าสาวออก ความหมายคือความเท่าเทียมกันของพ่อแม่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ตอนที่เปิดผ้าคลุมก็ไม่ควรลืมที่จะนำผ้าคลุมสอดเข้าไปในอ้อมอกของแม่เจ้าบ่าว เพราะความหมายคือเจ้าสาวและแม่เจ้าบ่าวมีใจตรงกัน คันชั่งเป็นดั่งตัวแทนมังกร ส่วนมงกุฎที่เจ้าสาวสวมอยู่เป็นดั่งตัวแทนของหงส์ ดังนั้นการใช้คันชั่งเปิดผ้าคลุมของเจ้าสาวจึงหมายถึงมังกรเลือกหงส์