เปาบุ้นจิ้น เทพแห่งความยุติธรรม
หากพูดถึงบุคคลในประวัติศาสตร์จีนที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีและอยู่ในอันดับต้นๆ คือ เปาบุ้นจิ้น เนื่องจากเรื่องราวของท่านถูกนำมาทำเป็นละครและเข้ามาฉายในประเทศไทย โดยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว
เปาบุ้นจิ้นที่เรารู้จักกันนั้นเป็นการออกเสียงในวรรณกรรมตามสำเนียงของฮกเกี้ยน ซึ่งชื่อตามหลักเสียงจีนกลางแล้วเรียกว่า เปาเจิ่ง เป็นบุคคลที่มีประวัติอยู่ในสมัยซ่งเหนือ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าซ่งเหยินจง ตามประวัติแล้วเปาเจิ่งเกิดในครอบครัวนักวิชาการที่เมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุย ซึ่งเป็นครอบครัวชนชั้นกลาง ทำให้ไม่ได้รับความลำบากมากนัก แต่ก็ใกล้ชิดกับประชาชนชั้นล่างเป็นอย่างดี
ในฉบับวรรณกรรมเล่าว่ามารดาได้เสียชีวิตไปตั้งแต่เปาเจิ่งยังเล็ก จึงได้รับการเลี้ยงดูจากพี่สะใภ้ ซึ่งเปาเจิ่งเคารพรักเหมือนเป็นมารดาแท้ๆ แต่จากประวัติจริงนั้นในปี ค.ศ. 1570 เปาเจิ่งซึ่งมีอายุ 29 ปี สามารถสอบเป็นขุนนางและได้เป็นบัณฑิตหลวง แต่ยังไม่รับราชการใดๆ เนื่องจากต้องการเลี้ยงดูบิดามารดาเสียก่อน และในช่วงเวลานั้นผู้ว่าราชการเมืองหลูที่ชื่อ หลิวยุน ผู้มีความซื่อตรงและมากความสามารถทางกวีได้เข้ามาเยี่ยมเยียนและสอนเปาเจิ่งมากมาย
จนเมื่อบิดามารดาเสียชีวิตในปี 1580 เปาเจิ่งได้รับราชการโดยเริ่มจากปกครองอำเภอเทียนฉั่ง โดยได้แสดงฝีมือและความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ จนในที่สุดเป็นที่พึงพอใจของพระจักรพรรดิซ่งเหยินจง แล้วได้รับตำแหน่งเติบใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แต่ในวรรณกรรมยังบอกว่าได้เป็นเจ้าเมืองไคฟงซึ่งเป็นเมืองหลวงอีกด้วย ในช่วงเวลานั้นได้พิจารณาคดีต่างๆ มากมาย โดยไม่หวั่นเกรงผู้ที่มีอำนาจในสังคม หากทำผิดก็ต้องว่ากันไปตามบทกฎหมาย ซึ่งเป็นที่ประทับใจของประชาชนในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งขุนนางคัดค้าน ที่สามารถค้านการตัดสินใจของฮ่องเต้ได้อีกด้วย
หลังจากที่เปาเจิ่งถึงแก่กรรมที่เมืองหลวงแล้ว ชาวบ้านที่ประทับใจในวีรกรรมของท่านได้นำเรื่องราวของท่านมาแต่งเป็นอุปรากรที่ได้รับความนิยมมากมาย ซึ่งเพิ่มเติมเรื่องราวต่างๆ เข้าไปให้สนุกสนานมากขึ้น และเอกลักษณ์ของเปาบุ้นจิ้นที่เรารู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือ การที่มีใบหน้าดำและมีรูปพระจันทร์เสี้ยวที่หน้าผาก ก่อนที่จะนำมาสร้างเป็นละครที่โด่งดังมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากเปาบุ้นจิ้นที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีตัวละครอื่นๆ อีกที่ช่วยเพิ่มสีสัน เช่น
กงซุนเช่อ เป็นเลขาประจำตัวของเปาบุ้นจิ้น มีความรอบรู้เป็นอย่างมากทั้งด้านการแพทย์และดาราศาสตร์
จั่นเจา องครักษ์ที่มีฝีมืออันดับหนึ่งของแผ่นดิน ได้รับฉายาว่า แมวหลวง
หวั่งเฉา หม่าฮั่น จางหลง เจ้าหู่ ผู้ช่วยของเปาบุ้นจิ้น มีเรื่องเล่าว่าเคยเป็นนักเลงมาก่อน แต่แพ้ให้กับจั่นเจาจึงเข้ามาทำงานให้กับเปาบุ้นจิ้น
อ๋องแปด เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของเปาบุ้นจิ้นเป็นอย่างดี ในการคลี่คลายคดีที่ยากลำบาก
ราชครู ขุนนางกังฉินที่เป็นศัตรูกับเปาบุ้นจิ้นมาโดยตลอด
ตี้ชิง หากเปรียบเปาบุ้นจิ้นเป็นดาวบุ๋นที่ดูแลบ้านเมืองแล้ว ตี้ชิงคือดาวบู๊ที่คอยปกป้องแผ่นดินจากต่างแดน ซึ่งหลายครั้งมีบทบาทในการช่วยเหลือเปาบุ้นจิ้น
เปาบุ้นจิ้นเป็นผู้ที่เคร่งครัดในการทำงานเป็นอย่างมาก ซึ่งฮ่องเต้เคยเอ่ยว่า หากวันใดที่เปาบุ้นจิ้นยิ้ม วันนั้นน้ำในแม่น้ำฮวงโหคงจะใส แม่น้ำฮวงโหหรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ แม่น้ำเหลือง เนื่องจากมีตะกอนดินปะปนอยู่ตลอดเวลาและมีความขุ่นมาก
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้น
- เสียงที่บรรดาทหารในศาลร้องเวลาเปิดศาลว่า “เว่ย... หวู” มีความหมายว่า อำนาจอันยิ่งใหญ่ เป็นคำที่ใช้ร้องเปิดศาลตามธรรมเนียมปฏิบัติของศาลจีนสมัยโบราณ เพื่อแสดงถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของศาล
- เปาบุ้นจิ้นเป็นผู้วางรากฐานความคิดที่ว่า “เศรษฐกิจมั่งคั่ง การทหารเข้มแข้ง” ซึ่งได้สืบทอดต่อจนเกือบประสบความสำเร็จในยุคสมัยต่อมา
- เครื่องประหารชีวิตของเปาบุ้นจิ้นที่รู้จักกันดีมีอยู่ 3 อย่าง แบ่งตามลักษณะของหัว ได้แก่ หัวสุนัขไว้ประหารประชาชนทั่วไป หัวเสือไว้ประหารเหล่าขุนนาง และหัวมังกรไว้ประหารเหล่าเชื้อพระวงศ์
- มีคำกล่าวยกย่องว่า กลางวันเปาบุ้นจิ้นตัดสินคดีในโลกมนุษย์ และกลางคืนตัดสินคดีในยมโลก
- ในปัจจุบันมีการสร้างศาลเปาบุ้นจิ้นที่เมืองไคฟง โดยมีอนุสาวรีย์และแบบจำลองเครื่องประหารทั้งสามไว้ด้วย
- ประเทศไทยมีศาลเจ้าเปากง (เปาบุ้นจิ้น) ที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง
- เปาบุ้นจิ้นได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์
- จากกระแสของละครเรื่องเปาบุ้นจิ้นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย จึงมีผงซักฟอกยี่ห้อเปาบุ้นจิ้นขึ้น เพราะคิดว่าผ้าจะได้ขาวเหมือนความยุติธรรมของเปาบุ้นจิ้น