จูล่ง บุรุษแห่งเขาเสียงสาน
ตัวละครในวรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก มีอยู่ด้วยกันหลายร้อยตัว หากพูดถึงตัวละครที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ จูล่ง เพราะนอกจากจะเป็นตัวละครที่มีสีสันเป็นอย่างมากแล้ว ยังมีการนำเรื่องราวจากวรรณกรรมในตอนเด่นของจูล่งมาเรียนกันอีกด้วย นั่นคือ เหตุการณ์ “จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า” ก็ยิ่งทำให้ผู้อ่านรู้จักมากยิ่งขึ้น
อาเต๊า คือ บุตรชายของเล่าปี่กับนางกำฮูหยิน ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเล่าเสี้ยนแห่งราชวงศ์จ๊กในเวลาต่อมา
จูล่งคือใคร มาจากไหน และทำไมถึงได้มีวีรกรรมที่โดดเด่นเป็นพิเศษขนาดนี้
ชื่อจริงของบุคคลคนนี้คือ เตียวหยุน และมีชื่อรองคือ จูล่ง ซึ่งแปลว่า บุตรมังกร เกิดเมื่อปี ค.ศ. 157 (บางตำราบอกว่าเกิดเมื่อปี ค.ศ. 168) เกิดที่จังหวัดเสียงสาน ซึ่งเป็นที่มาของฉายาวีรบุรุษแห่งเขาเสียงสาน ซึ่งสีประจำตัวของเขาคือ สีขาว โดยมีที่มาจากชื่อของเขาว่า หยุน แปลว่า เมฆ ดังนั้นการที่ชอบใส่เสื้อผ้าสีขาว ขี่ม้าสีขาว ถือทวน จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเขาในทุกๆ การออกรบ ที่บรรดาข้าศึกต่างเกรงกลัวเป็นพิเศษ
ในช่วงวัยเด็ก บ้านเมืองประสบความยากลำบาก ทำให้จูล่งต้องฝึกฝนเพื่อเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการยิงธนู การขี่ม้า วิชาทวน เป็นต้น เมื่อเติบโตขึ้นจูล่งเป็นผู้นำของกลุ่มคนหนุ่มในอำเภอ และเมื่อเห็นใบประกาศรับสมัครจึงคิดที่จะไปสังกัดกองกำลังเพื่อที่จะยุติความวุ่นวาย โดยกองกำลังแรกที่จูล่งไปสมัครคือ อ้วนเสี้ยว
อ้วนเสี้ยวเป็นขุนพลที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในช่วงนั้น แต่จูล่งรู้สึกว่าอ้วนเสี้ยวไม่ได้มีความคิดที่จะปกป้องประเทศชาติแต่อย่างใด จึงปลีกตัวออกมาและเข้าสังกัดกับกองซุ้นจ้าน ขุนพลหนุ่มในขณะนั้น ซึ่งวีรกรรมเปิดตัวของจูล่งก็เกิดในช่วงนี้คือ กองซุ้นจ้านและอ้วนเสียวได้วางแผนร่วมมือกันในการตีกุ๋นจิ๋ว เมื่อตีได้แล้วก็ทำการขอส่วนแบ่ง แต่อ้วนเสี้ยววางแผนหักหลัง ซึ่งกองซุ้นจ้านเกือบเสียทีแต่ได้จูล่งซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียงใดๆ ช่วยไว้ ในการต่อสู้กับบุนทิวขุนพลของอ้วนเสี้ยว
ต่อมาจูล่งได้พบกับเล่าปี่ในช่วงที่เล่าปี่และพี่น้องร่วมสาบานเข้ามาพึ่งพากองซุ้นจ้าน และกองซุ้นจ้านที่เป็นเพื่อนในสมัยเรียนของเล่าปี่ได้มอบให้ดูแลอำเภอผิงหยวน พร้อมกับส่งจูล่งซึ่งเป็นนายกองทหารม้าไปช่วยฝึกทหารอีกด้วย ซึ่งต่างฝ่ายต่างเกิดความประทับใจ แต่จูล่งยังสังกัดกับกองซุ้นจ้านจึงไม่ได้เข้าร่วมในทันที
หลังจากที่จูล่งกลับไปช่วยงานกองซุ้นจ้าน ตามวรรณกรรมเล่าว่า จูล่งจากไป 3-4 ปี เพื่อไว้ทุกข์ให้กับพี่ชายที่ตายไป แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าจูล่งเบื่อที่กองซุ้นจ้านไม่ได้มีใจคิดช่วยประเทศชาติจริงและไม่คิดใช้งานเท่าที่ควรจึงจากไป ต่อมากองซุ้นจ้านก็แพ้อ้วนเสี้ยวและต้องฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
จูล่งจึงได้มาอยู่ด้วยกันกับเล่าปี่ในช่วงเวลาที่เล่าปี่หนีจากอ้วนเสี้ยวและแยกจากกวนอู และเตียวหุย โดยอยู่ในตำแหน่งองครักษ์พิทักษ์เล่าปี่และครอบครัว
หลังจาก 3 พี่น้องร่วมสาบานได้พบกันแล้ว เล่าปี่ได้คิดที่จะโจมตีฮัวโต๋เมืองหลวงของโจโฉ โดยแบ่งออกเป็น 3 ทาง ซึ่งในศึกครั้งนี้ได้เป็นศึกสร้างชื่อให้กับจูล่งเป็นอย่างมากที่สามารถปะทะกับเคาทูได้ และด้วยกำลังที่น้อยกว่าเล่าปี่จึงต้องหนี และระหว่างที่หนีนั้นเองที่เตียวคับได้ติดตามมา จูล่งก็ได้แสดงฝีมืออีกครั้งที่สามารถสังหารองครักษ์ของเตียวคับได้
เล่าปี่ได้หนีมาพึ่งเล่าเปียวและได้รับแต่งตั้งให้ดูแลเมืองซินเอี๋ยเป็นเวลากว่า 7 ปี ซึ่งขงเบ้งก็เข้ามาในช่วงเวลานี้นี่เอง หลังจากที่เล่าเปียวเสียชีวิต เล่าจ๋องบุตรคนเล็กได้ขึ้นตำแหน่งแทนและสวามิภักดิ์กับโจโฉ เล่าปี่จึงยกทัพหนีเพื่อไปยังแฮเค้า แต่ระหว่างทางเนื่องจากมีประชาชนติดตามมาเป็นอันมากทำให้เดินทัพได้ช้า และทัพของโจโฉติดตามมาทัน
ในระหว่างนั้นจูล่งซึ่งเป็นองครักษ์พิทักษ์ครอบครัวเล่าปี่ ได้พลัดพรากจากครอบครัวเล่าปี่ จึงขี่ม้าเข้าไปยังทัพของโจโฉเพื่อช่วยเหลือ และได้พบอาเต๊าและพยายามฝ่าทัพออกมาแต่เพียงลำพัง ซึ่งเป็นวีรกรรมที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้กับจูล่ง โจโฉเห็นวีรกรรมดังกล่าวจึงคิดอยากได้จูล่งและให้คนสนิทไปถาม จูล่งจึงได้ประกาศชื่อให้เป็นที่รู้จักว่า “ข้าเตียวหยุน จูล่ง แห่งเสียงสาน”
ซึ่งในศึกต่อๆ มาจูล่งได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์มากมาย โดยเป็นองครักษ์คนสนิทของครอบครัวเล่าปี่ ในภายหลังเล่าปี่ได้ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ จูล่งก็ได้เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ และเป็นห้าทหารเสือคนสุดท้ายที่เสียชีวิต นอกจากจูล่งจะมีความสามารถทางการต่อสู้แล้ว ในด้านกลยุทธ์ยังโดดเด่นไม่แพ้ใครอีกด้วย โดยเฉพาะหลังจากที่ขงเบ้งพ่ายศึกให้กับสุมาอี้ จูล่งรับหน้าที่คุมทัพหลังในการถอยทัพ ซึ่งจูล่งสามารถถอยทัพกลับได้โดยไม่เสียไพร่พลแม้แต่คนเดียว โดยเป็นกลยุทธ์ที่มีเพียงจูล่งคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้
จูล่งถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 229 รวมอายุ 72 ปี (บางตำราบอกว่า 61 ปี) มีเรื่องเล่าว่า พระเจ้าเล่าเสี้ยนได้ร้องไห้ ซึ่งเสียงร้องไห้นี้ดังจนเสียงสะเทือนไปทั้ง 3 แผ่นดิน นับว่าเป็นตัวละครที่เสียชีวิตอย่างดี ซึ่งเป็นจำนวนน้อยของเรื่องสามก๊ก