ชาวจีนโพ้นทะเล ตอนที่ 2
เนื่องจากประเทศที่ตั้งของไทยและจีนอยู่ไม่ไกลกันมากนัก และในอดีตบางช่วงมีพรมแดนที่ติดต่อกัน ทำให้มีการเดินทางแลกเปลี่ยนสินค้า ความรู้ และการค้าขายมานับแต่โบราณ
ในอดีตบริเวณที่ตั้งของไทยในปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรต่างๆมากมายและจากหลักฐานได้พบว่ามีการติดต่อค้าขายกันมาโดยตลอด โดยมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผา เรือสำเภา สินค้าอื่นๆ ในเส้นทางเรือหลายรายการ
ในสมัยสุโขทัยมีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่า มีการติดต่อกับราชสำนักจีนในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งตรงกับราชวงศ์หยวน โดยมีการเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้าและความรู้กัน ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การนำช่างฝีมือเข้ามาสอนการผลิตเครื่องสังคโลกที่โด่งดังนั่นเอง
ต่อมาในสมัยอยุธยาชาวจีนได้เข้ามาอยู่ในดินแดนเป็นจำนวนมาก พระมหากษัตริย์ทรงจัดสรรที่ดินให้ ภายใต้การดูแลของกรมท่าซ้าย และมีขุนนางที่ดูแลคือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เนื่องจากชาวจีนมีความสามารถในการเดินเรือจึงรับจ้างเดินเรือสินค้าเพื่อค้าขาย และบางคนมีความสามารถในการค้าขายซึ่งเข้าไปประมูลกิจการของรัฐหลายอย่าง เช่น นายอากร
การค้าที่ไทยกับจีนทำกันเป็นพิเศษคือ การจิ้มก้อง ซึ่งเป็นการค้าแบบรัฐบรรณาการ โดยที่ไทยจะนำสินค้าที่เป็นที่ต้องการส่งไปถวายแก่พระจักรพรรดิในประเทศจีน และประเทศจีนจะส่งสิ่งตอบแทนที่มีมูลค่าสูงกว่าเป็นการตอบแทน โดยสินค้าที่ไทยมักส่งไป เช่น ของป่า ผ้าไหม เป็นต้น
คนจีนมาตั้งรกรากในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในทุกยุคสมัย และเนื่องจากการที่ไม่ต้องเป็นไพร่เข้าเวร จึงมีเวลาในการทำการค้ามากกว่า รวมถึงการเป็นนายอากรให้กับทางรัฐอีกด้วย และนอกจากการค้าแล้ว การศึกสงครามยังมีกองกำลังจีนอาสาเข้าร่วมรบอีกด้วย เช่น ในสงครามยุทธหัตถีของพระนเรศวรมหาราช
การอพยพของชาวจีนมายังไทยนั้น เกิดจากคำเล่าลือของผู้ที่เคยมาแล้วว่า “ดินแดนสยามมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ หว่านเมล็ดพรรณใดก็ขึ้นทุกที่ อาหารการกินการบริโภคสมบูรณ์” จึงทำให้ชาวจีนเดินทางมาไทยมากขึ้น
โดยมากจะเดินทางมาทางเรือ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีท่าขึ้นแตกต่างกันไป เช่น ชาวกวางตุ้งมักขึ้นฝั่งที่บริเวณเกาะสีชัง เป็นต้น ชาวจีนในประเทศไทยมีด้วยกันหลายกลุ่ม แต่ที่มีเป็นจำนวนมากที่สุดคือ ชาวแต้จิ๋ว (เป็นชนกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน) ชาวกวางตุ้ง ชาวฮกเกี๊ยน และชาวไหหลำ โดยการอพยพครั้งใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นในช่วงของสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋ง กับช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรม