ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสมุนไพรจีน
ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน เมื่อร่างกายคนเราเกิดอาการเจ็บป่วยจะสามารถแบ่งภาวะโรคได้เป็น 4 ภาวะคือ ภาวะเย็น ภาวะร้อน ภาวะแกร่ง และภาวะพร่อง โดยมีลักษณะการแสดงออกอยู่ทางด้านบน ด้านล่าง ภายนอก และภายใน แตกต่างกัน รวมถึงตำแหน่งของการเกิดโรคอาจอยู่ที่เส้นลมปราณหรืออวัยวะภายในที่แตกต่างกันด้วย
เพราะเหตุนี้ยาสมุนไพรจีนที่นำมารักษาโรคต่างๆ จึงได้แบ่งหมวดหมู่เป็นฤทธิ์ทั้ง 4 กับ รสทั้ง 5 การเข้าเส้นลมปราณ และกลไกการออกฤทธิ์ของยาใน 4 รูปแบบ (ข้างบน ข้างล่าง เข้าใน ออกนอก) เมื่อแยกภาวะของโรคและเข้าใจถึงสภาพของการเจ็บป่วยแล้ว ก็จะสามารถจับประเด็นการรักษาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นก่อนจะเลือกใช้ยา จึงจำเป็นต้องรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะพิเศษ รวมถึงสรรพคุณต่างๆของตัวยาให้ดี เพื่อให้การรักษาโรคได้ผลดี และสามารถปรับสมดุลแก่ร่างกายได้ถูกต้อง
ฤทธิ์ทั้ง 4 กับรสทั้ง 5
หมายถึง ฤทธิ์ยาและรสชาติของสมุนไพร
ฤทธิ์ทั้ง 4 ได้แก่ เย็น ค่อนเย็น ร้อง และอุ่น (ยาบางตัวที่ออกฤทธิ์กลางๆ หรือร้อนเย็นไม่แจ่มชัด) การจะแยกแยะฤทธิ์ของตัวยาแต่ละตัวนั้น เป็นผลจากการตรวจสอบต่อการรักษาของตัวยานั้นๆ ที่มีต่อร่างกาย เช่น ตัวยาสำหรับรักษาภาวะเย็นจะเป็นตัวยาที่มีฤทธิ์อุ่นและร้อน ตามหลักการใช้ยาที่ว่า “ผู้ที่มีภาวะร่างกายร้อน ให้รักษาด้วยยาที่เย็น ผู้ที่มีภาวะร่างกายเย็น ให้รักษาด้วยยาที่ร้อน”
รสทั้ง 5 ได้แก่ เผ็ด หวาน เปรี้ยว ขม เค็ม การแยกแยะรสทั้ง 5 นั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการชิม นอกจาก 5 รสชาตินี้แล้ว ยังมีรสจืดและรสฝาด ตัวยาที่มีรสจืดจะจัดเข้าไปรวมอยู่กับตัวยาที่มีรสหวาน และตัวยาที่มีรสฝาดนั้นจัดเข้าไปรวมอยู่กับตัวยาที่มีรสเปรี้ยว (โดยทั่วไปจึงเรียกว่า รสทั้ง 5) รสยาที่แตกต่างกันก็จะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป เช่น ตัวยาที่มีรสเผ็ดจะมีส่วนผสมของน้ำมันระเหย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยในการกระจายขับเคลื่อนพลัง ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียน
จากหนังสือ รู้เลือกรู้ใช้ 100 สมุนไพรจีน
แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณณาวิบูล
สำนักพิมพ์ทองเกษม