ขงจื้อ ปรมาจารย์แห่งแผ่นดิน
ในประวัติศาสตร์ของจีนนั้น บุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คงมีชื่อของขงจื้ออยู่เป็นแน่ ซึ่งขงจื้อเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในสมัยชุนชิว โดยได้ถ่ายทอดคำสอนจนเป็นที่ยึดมั่นของชาวจีนมาเป็นระยะเวลานาน และยังคงเป็นสิ่งที่ยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน
ขงจื้อ เกิดเมื่อ 8 ปีก่อนพุทธศักราช ซึ่งตรงกับปีที่ 21 ของรัชกาลโจวหลิงหลาง ในแคว้นหลู่ ในยุคสมัยชุนชิวนั้นเป็นช่วงที่เกิดแคว้นต่างๆ มากมาย แต่ละแคว้นก็พยายามที่จะแย่งชิงอำนาจและความเป็นใหญ่ โดยแต่ละปีนั้นจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง จนเป็นที่มาของชื่อยุคนี้นั้นเอง
บิดาของขงจื้อชื่อ ขงสูเหลียงเหอ เป็นคนที่มีพละกำลังกล้าแกร่งมาก โดยเมื่อวัย 64 ปี ได้ภรรยาอีกคนแซ่หยวน และได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งคือ ขงจื้อ เมื่อขงจื้ออายุได้ 3 ขวบ บิดาก็ถึงแก่กรรม ในวัยเด็กขงจื้อชอบเล่นเลียนแบบการไหว้เจ้า และเป็นคนใฝ่การเรียนรู้เป็นอย่างมาก จนเป็นที่รู้จักไปทั่วแคว้นหลู่ เมื่ออายุได้ 19 ปี ก็แต่งงานและให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งคือ ขงหลี่ ในช่วงเวลานั้นขงจื้อรับราชการและมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยกย่อง เจ้าแคว้นหลู่ได้ส่งขงจื้อไปเรียนรู้เกี่ยวกับจารีตประเพณีในราชสำนักโจว ในช่วงเวลานี้ขงจื้อได้พบกับเล่าจื้อซึ่งปรมาจารย์แห่งลัทธิเต๋า โดยได้สนทนากัน ขงจื้อกล่าวเปรียบเปรยเล่าจื้อว่าเป็นเหมือนมังกร
เมื่อกลับยังแคว้นหลู่ ขงจื้อได้รับราชการอีกครั้ง พร้อมกับเปิดโรงเรียนเอกชนสอนประชาชนทั่วไปที่สนใจอีกด้วย นับเป็นสิ่งที่สร้างความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าในยุคสมัยนั้นวิชาความรู้ยังไม่ได้เผยแพร่อย่างกว้างขวาง ยังคงเป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มชนชั้นปกครองเท่านั้น และขงจื้อได้เปิดกว้างทางการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยมีคำกล่าวว่า การที่มีเพียงเนื้อมาเป็นค่าเรียนก็เพียงพอแล้ว
การรับราชการของขงจื้อในช่วงแรกประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนคดีความต่างๆ ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก ใครลืมสิ่งของใดไว้ก็ไม่มีผู้ใดหยิบขโมย บรรดาแคว้นอื่นๆ เห็นแล้วจึงพยายามขัดขวาง มีการนำสาวงามมาถวาย ทำให้อ๋องแคว้นหลู่ลุ่มหลง ละเลยกิจการต่างๆ ของแคว้นไป ขงจื้อรู้สึกท้อใจเป็นอย่างมาก จนเมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจลในแคว้นหลู่ ขงจื้อจึงอพยพหนีภัยไปยังแคว้นต่างๆ ซึ่งหลายแคว้นก็ดูเหมือนจะต้อนรับเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้ใช้งานขงจื้อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เพราะในหลายท้องที่ต่างก็มีขุนนางท้องถิ่นที่มีอำนาจอยู่แล้ว และไม่ต้องการที่จะเสียอำนาจที่เคยมีอยู่ไป ในที่สุดหลังจากเดินทางกว่า 14 ปี ขงจื้อก็เลือกที่จะกลับมายังแคว้นหลู่ตามเดิม
ขงจื้อที่มีอายุมากแล้วนั้น ไม่ได้สนใจที่จะรับราชการอีกต่อไป หากแต่ต้องการสอนความรู้ต่างๆ สร้างบุคลากรให้เป็นบุคคลเก่งในหลายด้านแทน เขียนหนังสือต่างๆ มากมาย โดยหนังสือที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ หนังสือชุนชิว (เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวของยุคสมัยนี้เอาไว้) ขงจื้อรับนักเรียนต่างๆ มากมายกว่า 3,000 คน ซึ่งในจำนวนเหล่านี้มี 72 คน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิษย์เอกของขงจื้อ
ในบั้นปลายชีวิต เมื่อขงหลี่ผู้เป็นบุตรชาย และเหยียนหุยกับจื่อลู่ซึ่งเป็นศิษย์คนโปรดถึงแก่กรรม ขงจื้อก็เริ่มปลงในชีวิตและล้มป่วยลง จนจากไปเมื่ออายุได้ 73 ปี
คำสอนของขงจื้อได้ถูกจดบันทึกไว้ โดยเป็นบทสนทนาสั้นๆ ระหว่างขงจื้อกับลูกศิษย์ต่างๆ ในหนังสือ “หลุนอวี่” และต่อมาได้รับการยกย่องจนกลายเป็นลัทธิที่สำคัญของจีน และเป็นสิ่งที่แสดงออกในวัฒนธรรมของจีนมาทุกยุคทุกสมัย
คำสอนของขงจื้อ
- เดินไปกับอีกสองคน ย่อมมีครูเราอยู่ด้วย เลือกข้อดีของเขาแล้วเอาอย่าง พิจารณาข้อบกพร่องของเขาแล้วปรับปรุงตน
- แม้มีเพียงเนื้อแห้งเป็นค่าคุรุทักษิณา เราก็หาเคยไม่รับสอนไม่
- จื่อกงถามหลักการปกครอง ขงจื้อตอบว่า “อาหารสมบูรณ์ กองทัพพร้อมสรรพ ประชาชนมีศรัทธา” จื่อกงถามว่า “หากจำเป็นควรตัดข้อใดในสามข้อนี้ก่อน” ตอบว่า “ตัดกองทัพ” จื่อกงถามต่อว่า “หากจำเป็นต้องตัดอีกล่ะ?” ตอบว่า “ตัดอาหารเพราะความตายเป็นของธรรมดามาแต่โบราณ หากประชาชนไม่ศรัทธา รัฐบาลย่อมอยู่ไม่ได้”
- ม้าดีมิใช่ที่กำลัง หากเพราะคุณสมบัติ
ลัทธิขงจื้อ
หลังจากขงจื้อถึงแก่กรรมแล้ว คำสอนของขงจื้อยังคงได้รับการถ่ายทอดจากบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ต่อมาเม่งจื้อ ลูกศิษย์คนหนึ่งของขงจื้อ ได้รวบรวมคำสอนต่างๆ และได้พัฒนาจนกลายเป็นลัทธิขงจื้อในเวลาต่อมา ลัทธิขงจื้อนี้ได้เป็นหลักยึดจิตใจของประชาชนมาโดยตลอด แต่ก็มีหลายช่วงเวลาที่เกือบถูกทำลายลง เช่น จากเหตุการณ์ฝังบัณฑิตเผาตำรา ในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ หรือการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของพระพุทธศาสนา สมัยที่สตรีเป็นใหญ่ในรัชกาลของบูเช็คเทียน และการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนของพรรคคอมมิวนิสต์
สุสานขงจื้อ
ศาลเจ้าข่งจื้อ สุสานตระกูลข่ง และคฤหาสน์ตระกูลข่ง ตั้งอยู่ที่เมืองชวีฟู่ มณฑลซานตง หรือเรียกทั้งสามสถานที่นี้รวมกันได้อีกชื่อว่า “ซานข่ง” ซานข่งมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อยู่ในครอบครองเกือบ 1,000 หลัง ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 14,175 ตารางกิโลเมตร
ศาลเจ้าขงจื้อมีพื้นที่กว้างขวางอย่างมาก เป็นรองเพียงพระราชวังต้องห้าม เรียกได้ว่าเป็นแบบอย่างของสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ในสมัยโบราณของจีน เริ่มต้นสร้างขึ้นตั้งแต่ 478 ปีก่อนคริสตกาล โดยสร้างขึ้นเพียงสามหลังต่อมาจึงได้สร้างเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ตามแต่ละยุคสมัย
สุสานตระกูลข่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สุสานจื้อเซิ่ง” เป็นสถานที่ฝังศพของท่านขงจื้อรวมถึงลูกหลานของท่าน สุสานนี้ใช้ฝังศพมาเป็นเวลาสองพันกว่าปีมาแล้ว โดยฝังศพลูกหลานท่านขงจื้อไปแล้วมากกว่าหนึ่งแสนคน
ที่มา - หนังสือไปเที่ยวมรดกโลกจีนกันเถอะ ฉบับการ์ตูน
สำนักพิมพ์ทองเกษม