"ซินเจิงหยูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย" สุขสันต์วันตรุษจีน
วันปีใหม่ของแต่ละชาติล้วนเป็นเทศกาลแห่งความสุขที่ผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน เช่น เทศกาลวันปีใหม่สากล เทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นวันปีใหม่ของชาวไทย สำหรับชาวจีนแล้วเทศกาลตรุษจีนถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญที่ชาวจีนจะออกมาเฉลิมฉลองกันเป็นจำนวนมาก และมีการเดินทางกลับภูมิลำเนากว่า 100 ล้านคน
ภาพการเดินทางกลับภูมิลำเนา
ไม่มีการบันทึกไว้ว่า ชาวจีนเริ่มต้นการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนตั้งแต่เมื่อไร แต่ในสมัยราชวงศ์โจว (ชุนชิว-จ้านกว๋อ) ก็มีการเฉลิมฉลองแล้ว โดยสมัยก่อนจะมีการเฉลิมฉลองที่เรียกว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” เพื่อเป็นการฉลองที่สิ้นสุดฤดูหนาวที่ทำการเพาะปลูกลำบากเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เพื่อเป็นสัญญาณว่าจะเริ่มทำเกษตรกรรมได้อีกครั้งนั่นเอง
โดยวันตรุษจีนจะตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจีนโบราณ เมื่อนำมานับตามหลักสากลคือ ปฏิทินสุริยคติ จะทำให้วันตรุษจีนของแต่ละปีไม่ตรงกัน โดยจะอยู่ประมาณปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 นี้ วันตรุษจีนจะตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์
ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนต้องไปทำงานยังต่างถิ่น จึงถือเป็นธรรมเนียมว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของแต่ละปี ผู้คนที่ไปทำงานยังต่างถิ่นต้องเดินทางกลับถิ่นฐานเพื่อร่วมกินข้าวกับทางบ้านอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน ดังนั้นในช่วงเวลานี้ของทุกปี เราจะพบข่าวว่า ชาวจีนกว่าร้อยล้านคนออกเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาของตน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว รถไฟ เรือ หรือแม้แต่เครื่องบิน ซึ่งการเดินทางกลับนี้นับเป็นระยะเวลากว่า 40 วัน เลยทีเดียว
ธรรมเนียมของเทศกาลตรุษจีนบางแห่งจะเฉลิมฉลองกันเป็นเวลากว่า 15 วัน โดยแต่ละวันจะมีพิธีกรรมที่ต่างกันไป แต่ที่เน้นความสำคัญคือ ก่อนวันตรุษจีนจะมีพิธีส่งเทพเจ้าเตาไฟกลับสวรรค์ เพราะชาวจีนเชื่อกันว่า เทพแห่งเตาไฟเป็นเทพที่ใกล้ชิดกับผู้คนในบ้านมากที่สุด มีหน้าที่จดบันทึกพฤติกรรมต่างๆ ของคนในบ้านและไปรายงานให้สวรรค์รับรู้ จึงมีการเซ่นไหว้เพื่อให้เทพเจ้าเตาไฟรายงานแต่สิ่งที่ดีงามของครอบครัว สวรรค์จะได้มอบสิ่งที่ดีกลับมา
“วันจ่าย” คือวันก่อนวันตรุษจีน เป็นวันที่ผู้คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อเลือกซื้อสิ่งของต่างๆ และวัตถุดิบที่จะนำไปประกอบอาหารสำหรับการเซ่นไหว้ในวันตรุษจีน และจะมีการทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีออกไปจากบ้านเรือนของตน
“วันไหว้” เป็นวันที่มีพิธีกรรมการไหว้สักการะเทพเจ้าและบรรพบุรุษ เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองคนในบ้านให้มีแต่ความสุขและความเจริญ โดยจะไหว้ด้วยสิ่งของมงคลที่มีความหมายดีๆ เช่น หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ไก่ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็ด หมายถึง ความมั่งคั่ง เป็นต้น ส่วนตอนเย็นจะเป็นการรวมญาติ ซึ่งจะไปรวมกันที่บ้านของผู้อาวุโสของตระกูล เพื่อร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังมีการไหว้ “ไท่สิ้งเอี้ย” หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เพื่อขอพรให้มีโชคลาภเข้ามาตลอดปี
“วันเที่ยว” หรือวันตรุษจีนนั่นเอง เป็นวันที่ห้ามพูดคำไม่ดี ต้องมีความยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่แสดงอารมณ์โกรธ เพราะจะไม่เป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ในวันนี้จะห้ามใช้กรรไกรหรือสิ่งของมีคมต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดมงคลของตัวเอง และจะเป็นวันเที่ยวของหลายคน โดยการไปเยี่ยมเยียนผู้ใหญ่ ซึ่งจะนำส้มไปมอบให้ 4 ผล ผู้รับจะนำส้มออก 2 ผล และนำของตัวเองอีก 2 ผล รวมเป็น 4 ผล กลับคืนแก่ผู้ให้ เพื่อเป็นการเสริมโชคลาภให้แก่กันและกัน
สิ่งหนึ่งที่เด็กหลายคนเฝ้ารอคอยให้วันตรุษจีนมาถึงก็คือ “อั่งเป่า” โดยคู่บ่าวสาวที่ออกเรือนแล้วจะมอบเงินใส่ในซองแดงให้แก่ผู้ใหญ่และเด็กๆ เพื่อเป็นสิริมงคล โดยมีความเชื่อมาจากในสมัยก่อนที่ผู้คนยังใช้เงินตราเป็นเหรียญที่ห้อยอยู่ข้างตัว การให้เด็กห้อยเหรียญ 100 เหรียญข้างตัวเป็นการป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายมาเข้าสิง และได้พัฒนามาเป็นการมอบเงินใส่ในซองแดงแทน เป็นการให้เพื่อการอวยพร เช่น ผู้ใหญ่ให้อั่งเป่าแก่เด็กเพื่ออวยพรให้เติบโตอย่างแข็งแรง หรือให้คนวัยทำงานเพื่ออวยพรให้ชีวิตการทำงานมั่นคงและเจริญก้าวหน้า เป็นต้น
โดยคำอวยพรที่ใช้ในวันตรุษจีนนี้จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่ที่ประเทศไทยนิยมใช้กันคือ “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” (ออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋ว) แปลว่า “ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่”
สุดท้ายนี้ขอให้คุณผู้อ่านมีแต่ความสุข ความเจริญ โชคลาภเงินทองไหลมาเทมาครับ
ขอบคุณภาพจาก