จิวยี่ สุภาพบุรุษหรือตัวอิจฉา
ซูตงโพ กวีเอกสมับราชวงศ์ซ่งเขียนบทประพันธ์สดุดีจิวยี่ไว้เป็นที่ติดตาตรึงใจใน “คิดถึงเสียวเกี้ยว”
“หวนคิดจิวยี่วัยหนุ่ม
เสียวเกี้ยวเพิ่งแต่งงาน
มาดงามสง่า
ผูกผ้าพันคอถือพัดขนนก
พูดจายิ้มแย้มใช้ไฟเผาทัพเรือ”
คำประพันธ์นี้ทำให้เห็นภาพความสง่างามของจิวยี่ในยามออกศึก
ทว่าบางคนนึกภาพเช่นนี้ไม่ออกเพราะหลงติดบทวรรณกรรมสามก๊กที่เขียนบิดเบือนให้จิวยี่เป็นตัวอิจฉา จนกระทั่งเสียรู้ขงเบ้งถูกยั่วยุสามหนจนตัวตาย เรามาพิจารณาดูจิวยี่ในบทวรรณกรรมสามก๊กกัน
ข้อหนึ่ง เสียทั้งฮูหยินและสิ้นทัพ
จิวยี่วางแผนให้ซุนกวนยกน้องสาวให้แก่เล่าปี่แบบหลอกๆ เพื่อชิงเกงจิ๋วคืน แต่ลงเอยด้วยเล่าปี่หนีไปได้โดยมีซุนช่างเขียนช่วยคุ้มครอง แล้วขงเบ้งยังให้ทหารร้องเยาะเย้ยที่ริมฝั่ง ด้วยคำกล่าวข้างต้น จิวยี่ฟังแล้วแค้นใจจนกระอักเลือดล้มสลบลงกับเรือ
ข้อสอง ใช้ปัญญายั่วจิวยี่
ขงเบ้งใช้โวหารอ้อมค้อมบอกไม่ต้องสู้กับโจโฉให้ยุ่งยาก เพียงแค่ใช้เรือลำหนึ่งบรรทุกหญิงงามสองคนไปส่งให้ แค่นั้นโจโฉก็เลิกทัพกลับไปบ้าน เมื่อจิวยี่ถามว่าหญิงสองคนนั้นเป็นใคร ขงเบ้งบอกว่า ไต้เกี้ยวกับเสียวเกี้ยวเล่นเอาจิวยี่โกรธจัดและประกาศลั่นว่าไม่ยอมอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันกับโจโฉ
ข้อสาม เรือบรรทุกฟางยืมเกาทัณฑ์
จิวยี่ให้ขงเบ้งทำเกาทัณฑ์สิบหมื่นดอกภายในสิบวัน ขงเบ้งบอกขอสามวันก็พอ จิวยี่สั่งให้ทำทัณฑ์บนไว้เพราะคิดว่าขงเบ้งไม่มีทางทำได้ทันภายในสามวัน และจะต้องถูกลงโทษถึงตาย ปรากฏว่าขงเบ้งใช้เรือบรรทุกฟางไปเอาเกาทัณฑ์มาได้ ในบทวรรณกรรมตอนนี้ทำให้จิวยี่มีภาพเป็นตัวอิจฉา
ข้อสี่ ยืมลมบูรพา
ขงเบ้งกับจิวยี่มีความคิดตรงกันเรื่องใช้ไฟเผาทัพเรือโจโฉ แต่ช่วยนั้นมีแต่ลมพัดมาจากตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้จิวยี่ร้อนใจจนล้มป่วย ขงเบ้งบอกให้จิวยี่สร้างเวทีเจ็ดดาวเพื่อทำพิธีเรียกลม โดยตนเองเป็นผู้ประกอบพิธีจนมีลมบูรพาเกิดขึ้น จิวยี่ยิ่งเห็นว่าปล่อยขงเบ้งไว้จะเป็นภัยจึงให้คนไปตามฆ่า แต่ขงเบ้งรู้ตัวดีหนีรอดไปได้อย่างลอยนวล
ความจริงเรื่องราวเหล่านี้ล่วนแต่งขึ้นในนวนิยาย ซึ่งมีจริงเพียงเจ็ดส่วนแต่งขึ้นสามส่วน แต่เฉพาะตอนศึกผาแดงมีจริงเพียงสามส่วนเท็จถึงเจ็ดส่วน ตามประวัติศาสตร์เป็นดังนี้
ข้อแรก ซุนกวนคิดยกน้องสาวให้เล่าปี่จริงๆ เพื่อความปรองดอง เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับจิวยี่
ข้อสอง จิวยี่ยืนหยัดในการต่อต้านโจโฉตั้งแต่แรกเริ่ม ซุนกวนคิดสู้ศึกผาแดงเพราะเห็นด้วยกับจิวยี่ ช่วงเวลานั้นซุนกวนกับเล่าปี่มีทางเลือกเดียวคือจับมือกันจึงไม่จำเป็นต้องมีการหยั่งเชิงลองใจกัน
ข้อต่อมา เรือบรรทุกฟางยืมเกาทัณฑ์ เป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์และผู้ทำเรื่องนี้คือซุนกวน
นอกจากนี้ขงเบ้งไม่มีบทบาทใดๆ ในศึกผาแดงและไม่มีอิทธิฤทธิ์ในการเรียกลมเรียกฝน แม่ทัพใหญ่งานนี้คือจิวยี่ ลมบูรพาเป็นเหตุปกติในลำน้ำฉางเจียง จิวยี่ อุยกาย ซึ่งคลุกคลีอยุ่ถิ่นนี้มานานย่อมรู้ธรรมชาติสภาพแวดล้อมนี้ดี จึงใช้ความรอบรู้ดังกล่าวเอาชนะโจโฉอย่างเหนือชั้น
ข้อสุดท้าย น้ำใจจิวยี่กว้างขวางเป็นเรื่องประจักษ์จริงในประวัติศาสตร์ เล่าปี่เคยกล่าวชมจิวยี่มีน้ำใจประเสริฐ เฉินโซ่วผู้เขียนจดหมายเหตุสามก๊กยกย่องจิวยี่อย่างยิ่ง เทียเภาขุนศึกอาวุโสตอนแรกน้อยใจที่จิวยี่อ่อนวัยกว่าแต่มีตำแหน่งสูงกว่า และยังเคยแสดงท่าทางข่มจิวยี่หลายหน แต่จิวยี่ไม่ใส่ใจในที่สุดเทียเภายอมรับนับถือจิวยี่เอ่ยวาจาว่า “คบหากับจิวยี่เหมือนดื่มเมรัยรสเลิศเมามายโดยไม่รู้สึกตัว” และกลายเป็นเพื่อนรักต่างวัย
ยังมีกวีเอกสมัยซ่ง เช่น หงม่าย ซูตงโพ ล้วนเขียนยกย่องจิวยี่อย่างสูง หลอกว้านจงเขียนนิยายสามก๊กให้จิวยี่เป็นตัวอิจฉาเพื่อสร้างภาพให้ขงเบ้งให้โดดเด่นเท่านั้น สามยั่วยุจิวยี่เป็นเรื่องเท็จที่แต่งขึ้น การที่จิวยี่กรำศึกจนตัวตายเมื่ออายุแค่สามสิบหกปี นับเป็นคนที่ตายก่อนเวลาอันควรจริงๆ
สรุปแล้ว จิวยี่เป็นนักการทหารที่ยิ่งใหญ่สุดปลายราชวงศ์ฮั่น ไม่ใช่เป็นเพียงแม่ทัพที่ฉลาดหลักแหลมเท่านั้น ยังมีรูปร่างหน้าตาคมเข้มและรอบรู้เรื่องศิลปะ นับเป็นชายชาตรีสมบูรณ์แบบที่หาไม่ได้ง่ายนัก
จาก นวนิยายภาพสามก๊ก เล่ม 13