หวงเฟยหง วีรบุรุษตัวจริงหรือแค่ภาพยนตร์?
เชื่อว่าถ้าหากถามถึงวีรบุรุษชาวจีนผู้ต่อสู้กับการกดขี่จากชาวตะวันตกแล้ว ชื่อของปรมาจารย์ “หวงเฟยหง” คงติดอันดับต้นๆ ของตัวเลือกที่คุณผู้อ่านนึกถึง เรื่องราวของจอมยุทธ์ชาวจีนที่ทนเห็นเพื่อนร่วมชาติถูกชาวตะวันตกรังแกไม่ได้ จึงต้องออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของชาวจีน อีกทั้งยังรอบรู้ในสาขาวิชาทางการแพทย์ที่ออกรักษาชาวบ้านโดยไม่คิดค่ารักษา ทำให้เป็นที่ประทับใจของผู้คนมากมาย
สำหรับในแวดวงบันเทิงแล้วเรื่องราวของปรมาจารย์หวงเฟยหงเป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งนวนิยาย ภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ ที่ไม่ว่าจะสร้างขึ้นเมื่อใดก็เป็นที่นิยมของผู้คนมากมาย นับจากภาพยนตร์เรื่อง “Huang Fei-hong zhuan : Bian feng mie zhu (ค.ศ. 1949)” ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเรื่องราวของหวงเฟยหงมาสร้าง นำแสดงโดยกวางดั๊กฮิง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนผู้แสดงได้รับบทบาทเดียวกันนี้อีกทั้งสิ้น 77 เรื่อง ได้รับบันทึกในกินเนสบุ๊คว่าเป็นนักแสดงที่รับบทบาทเดียวกันมาที่สุดในโลก
นอกจากนี้ยังมีนักแสดงที่ได้รับบทบาทหวงเฟยหงอีกหลายคน เช่น หลี่เหลี่ยนเจี๋ย หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Jet Li เจ้าเหวินจั๋ว นักแสดงรุ่นใหม่ รวมถึงนักแสดง Superstar อย่างเฉินหลง ก็เคยรับบทเป็นหวงเฟยหงมาแล้ว จากเรื่อง “ไอ้หนุ่มหมัดเมา (ค.ศ. 1978)” ผลงานสร้างชื่อของเฉินหลง โดยเรื่องราวของหวงเฟยหงได้ถูกต่อเติมไปหลากหลาย ถึงกับมีภาคที่หวงเฟยหงไปบุกถึงสหรัฐอเมริกาในภาพยนตร์เรื่อง “หวงเฟยหงพิชิตตะวันตก (Once Upon a Time in China and America) (ค.ศ. 1997)”
"Drunken Master 1978"
"Once Upon a Time in China"
หลายคนคิดว่าเรื่องราวของหวงเฟยหงเป็นเพียงเรื่องแต่งเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่หวงเฟยหงเป็นบุคคลที่มีอยู่จริง และสร้างวีรกรรมจนเป็นที่กล่าวขวัญถึงไม่แพ้เรื่องราวในภาพยนตร์ทีเดียว
"รูปถ่ายเดียวของหวงเฟยหงที่เป็นที่รู้จัก"
หวงเฟยหงเกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.1847 ในรัชสมัยของฮ่องเต้เต้ากวง แห่งราชวงศ์ชิง (บางบันทึกบอกว่าเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1856 ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้เสียนเฟิง) เป็นบุตรชายของหวงฉีอิง ปรมาจารย์กังฟูที่มีชื่อเสียงและเป็นหนึ่งใน “สิบพยัคฆ์กวางตุ้ง” แต่หวงฉีอิงไม่ได้ถ่ายทอดวิชาให้กับหวงเฟยหง โดยไม่ปรากฏสาเหตุ หวงเฟยหวงฝึกวิชากำลังภายในจาก “ลู่อาไฉ” กับ “หล่ำฟกซิง” และได้รับการถ่ายทอดวิชาเพิ่มเติมจากบิดา
ในช่วงวัยเด็กทางบ้านมีฐานะยากจน ทำให้ต้องร่อนเร่เดินทางเปิดการแสดงวิชาและขายยาตามท้องถนน ซึ่งเป็นกิจการของทางบ้าน ทำให้หวงเฟยหงได้รับการถ่ายทอดวิชาการแพทย์แผนจีนที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างอีกด้วย
เมื่อหวงเฟยหงอายุได้ 16 ปี ชาวตะวันตกที่เดินทางมาประเทศจีนได้คิดกิจกรรมเพื่อความบันเทิงอันโหดร้ายขึ้น คือฝึกสุนัขสายพันธุ์เยอรมันเชฟเพิร์ดให้ดุร้ายและจัดให้มีการต่อสู้ โดยหากชาวจีนคนไหนที่สามารถเอาชนะได้ก็จะได้รับเงินรางวัลมูลค่าสูง แต่ส่วนมากแล้วจะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก หวงเฟยหงรู้สึกทนไม่ได้ที่เพื่อนร่วมชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสนุกสนานอย่างป่าเถื่อน จึงอาสาไปสู้เพื่อกู้ศักดิ์ศรีของชาวจีนและในที่สุดก็สามารถเอาชนะได้
ต่อมาเมื่อหวงเฟยหงอายุได้ 21 ปี ในขณะที่ท่าเรือฮ่องกงเพิ่งเปิดทำการ หวงเฟยหงได้เห็นเหตุการณ์ที่คนอ่อนแอถูกนักเลงท้องถิ่นรุมทำร้าย เมื่อไม่อาจทนเห็นภาพโหดร้ายได้จึงยื่นมือเข้าต่อสู้ด้วยอาวุธไม้พลอง ถึงแม้ว่าจะถูกรุมจากนักเลงหลายสิบคน แต่หวงเฟยหงสามารถที่จะหลบหนีและทำให้นักเลงหลายคนบาดเจ็บ แต่จากเหตุการณ์นี้ทำให้หวงเฟยหงไม่อาจที่จะอาศัยในฮ่องกงได้ จึงย้ายไปอยู่กวางเจา
ในช่วงเวลาอายุ 30 ปี หวงเฟยหงกลายเป็นปรมาจารย์กังฟูที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก (เป็นช่วงเวลาที่นิยมนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่สุด) นอกจากจะเป็นเปิดสอนกังฟูแล้ว ยังเปิดร้านขายยาและสถานพยาบาลชื่อ “เป่าจือหลิน” ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตำรับยาลับประจำตระกูล วิชาฝังเข็ม และวิชาต่อกระดูก อีกทั้งหลายครั้งที่หวงเฟยหงยังเปิดทำการรักษาแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดค่ารักษา
ฝีมือด้านการแพทย์ของหวงเฟยหงได้รับการยกย่องไม่แพ้ความสามารถด้านการต่อสู้ เมื่อนายพลหลิวหยงฟู่ประสบอุบัติเหตุขาหัก ก็ได้หวงเฟยหงเป็นผู้ทำการรักษาและกลายมาเป็นเพื่อนรักกัน พร้อมกับเป็นแพทย์ประจำกองทัพและเข้าทำสงครามกับญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
หวงเฟยหงผ่านการแต่งงานทั้งหมด 4 ครั้ง มีบุตรทั้งสิ้น 10 คน โดยภรรยาคนสุดท้ายคือ “มอกไกวหลาน” สมรสกันในปี ค.ศ. 1903 ขณะที่หวงเฟยหงอายุ 56 ปี และมอกไกวหลานอายุ 16 ปี
ต่อมาเกิดเหตุจราจลขึ้นในกวางเจา ก่อให้เกิดไฟไหม้และทำลายร้านค้าไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงร้านเป่าจือหลิน และไม่นานจากนั้นบุตรชายคนโตก็เสียชีวิตโดยถูกแก๊งยาเสพติดทำร้ายร่างกาย ทำให้หวงเฟยหงประกาศไม่สอนเคล็ดวิชาให้กับบุตรหลานของตน
หวงเฟยหงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1924 รวมอายุได้ 76 ปี โดยมีศิษย์ทั้งสิ้น 18 คน ที่เชื่อกันว่าคนที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาทั้งหมดของหวงเฟยหง (ได้แก่ กังฟู วิชาการแพทย์ และวิชาเชิดสิงโต) คือ เหลิงฟุน แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่ม และลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ หลินจี้หรง ซึ่งต่อมาเปิดสำนักวิชาขึ้นและเป็นผู้ที่เผยแพร่วีรกรรมของอาจารย์จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
"พิพิธภัณฑ์หวงเฟยหง ที่เมืองฝอซาน"