วิชากำลังภายใน นิยายหรือเรื่องจริง
เมื่อพูดถึงภาพยนตร์หรือละครจีนแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนจะนึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ประลองยุทธ์ด้วยวิชากำลังภายใน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายเรื่องที่สร้างมาจากนิยายกำลังภายใน ชื่อของวิชาต่างๆ ก็รู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น 18 ฝ่ามือพิชิตมังกร ลี้น้อยมีดบิน ประทับไม่ตาย เป็นต้น รวมถึงสำนักวิชาต่างๆ เช่น วัดเส้าหลิน สำนักบู๊ตึ้ง พรรคกระยาจก และลัทธิเม้งก่า เป็นต้น
ในความเป็นจริงแล้วหลายเรื่องเป็นเพียงการแต่งเพื่อความสนุกสนานของผู้ประพันธ์ แต่มีอีกหลายส่วนที่มีอยู่จริง เช่น วัดเส้าหลิน เป็นวัดที่มีอยู่จริง สถาปนาโดยพระโพธิธรรม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “หลวงจีนตั๊กม้อ”
โดยสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1038 เมื่อพระโพธิธรรมปฏิบัติธรรมด้วยการนั่งสมาธิ พบว่าร่างกายมีความเมื่อยล้าเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม ท่านจึงสังเกตกิริยาท่าทางของสัตว์และนำมาคิดเป็นท่าออกกำลังกาย เช่น ฝ่ามือนกกระเรียน กรงเล็บพยัคฆ์ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การฝึกวิชาของพระวัดเส้าหลินมีขึ้นเพื่อป้องกันการทำร้ายจากฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการชิงศรัทธาของประชาชน
อีกสำนักหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ สำนักบู๊ตึ้ง ก่อตั้งโดยนักพรตเตียซำฮง นักบวชในลัทธิเต๋า มีตำนานเล่าว่า ท่านมีอายุยืนยาวถึง 200 ปี โดยได้คิดค้นวิชาการฝึกกำลังภายในเพื่อการรักษา และคิดค้นวิชาการต่อสู้ที่ใช้หลักการของหยิน-หยาง ซึ่งกลายมาเป็นวิชาไทเก๊กที่โด่งดังในปัจจุบัน
พรรคกระยาจกเป็นเรื่องจริงที่มีสมาคมของกลุ่มขอทาน โดยรวมตัวกันเพื่อปกป้องซึ่งกันและกัน รวมถึงกีดกันผู้ที่มาใหม่ โดยผู้นำอาจจะมีฐานะร่ำรวยแต่ก็ไม่ได้รับการยกย่องจากทางสังคม
ลัทธิเม้งก่า ในสมัยราชวงศ์หยวนที่ชาวมองโกลปกครองประเทศ ลัทธิที่มีที่มาจากดินแดนเปอร์เซียได้เข้ามาเผยแพร่ลัทธินี้ โดยการบริจาคอาหารให้แก่ประชาชนที่อดอยาก ทำให้ได้รับแรงศรัทธาเป็นอย่างมาก และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อต้านราชสำนัก ซึ่งจูหยวนจางปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิงก็เคยเป็นสมาชิกของลัทธินี้ด้วยเช่นกัน
ในความเป็นจริงไม่ได้มีวิชาการต่อสู้ที่รุนแรงเหมือนในภาพยนตร์ แต่วีรบุรุษชาวจีนหลายคนมีอยู่จริง โดยใช้วิชาการต่อสู้เพื่อป้องกันจากผู้รุกรานต่างๆ และได้มีการนำชีวประวัติของท่านเหล่านี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์อันโด่งดัง เช่น ฮั่วหยวนเจี่ย หวงเฟยหง ยิปมัน เป็นต้น