38 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-จีน
นับแต่อดีต ชนชาติไทยและชนชาติฮั่นมีความสัมพันธ์ระหว่างกันมาโดยตลอด ซึ่งปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า มีการทำการค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ในพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการต่างๆ ระหว่างกันด้วย
(เครื่องชามสังคโลก ขอบคุณภาพจาก www.amulet1.com)
มีหลักฐานหลายชิ้นบ่งชี้เกี่ยวกับบรรพบุรุษไทยในประวัติศาสตร์จีน เช่น เชื่อกันว่า เบ้งเฮ้ก ที่เคยทำศึกกับขงเบ้งเป็นบรรพบุรุษของคนไทย(บางตำราบอกว่าเป็นขุนนางฮั่นที่ดูแลชนเผ่าที่เป็นบรรพบุรุษของไทย) หรืออาณาจักรน่านเจ้า ที่เชื่อกันว่าเป็นอาณาจักรแรกของชาวไทย ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณมณฑลเสฉวน ก่อนที่จะอพยพมาทางตอนใต้สู่แผ่นดินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ในหลายด้าน ทั้งการทำการค้า การแลกเปลี่ยนศิลปวิทยาการ ศิลปวัฒนธรรม และประชากร ในสมัยอยุธยามีการตั้งชุมชนชาวจีนขึ้นโดยเป็นผู้ใช้แรงงานที่สำคัญในสังคม มีการมอบตำแหน่งขุนนางให้กับชาวจีน เช่น ตำแหน่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เป็นต้น รวมถึงคำไทยต่างๆ ซึ่งมีที่มาจากภาษาจีน เช่น เก้าอี้ ยี่ห้อ เป็นต้น ดังนั้นความสัมพันธ์ของสองประเทศจึงสนิทแนบแน่นมาโดยตลอด
(การทำศึกสงครามฝิ่น ขอบคุณภาพจาก mil.huanqiu.com)
จนกระทั่ง เมื่อราชสำนักชิงพ่ายแพ้ให้กับกองกำลังตะวันตกในศึกสงครามฝิ่น ประกอบกับการที่ไทยเริ่มทำการค้ากับทางตะวันตกมากขึ้น ความสัมพันธ์กับไทยและจีนจึงเริ่มลดลงตามลำดับ แต่ในด้านประชากรแล้วก็ยังคงมีการเคลื่อนย้ายกันมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศจีนเกิดสงครามภายในประเทศระหว่างรัฐบาลก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ ประชาชนได้รับความยากลำบากและความอดอยาก จึงส่งผลให้มีกลุ่มผู้อพยพชาวจีนเพิ่มจำนวนสูงขึ้น และส่วนหนึ่งได้อพยพมายังประเทศไทยทั้งทางบกและทางน้ำ (ชุมชนชาวจีนยูนนานที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอีกหนึ่งชุมชนชาวจีนที่เกิดขึ้นจากการอพยพในช่วงเวลานี้) แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สามารถมีชัยชนะเหนือรัฐบาลก๊กมินตั๋งได้ ประเทศไทยซึ่งขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา จึงสนับสนุนรัฐบาลคณะชาติที่ไต้หวัน และไม่ยอมรับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน
ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ความเข้มงวดในความสัมพันธ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จอมพล ป. ได้มีแนวความคิดที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นในทางลับ โดยมีคุณสังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาคนสนิท เป็นผู้พยายามริเริ่มขึ้น มีการส่งบุตรชายและบุตรสาวของตนไปเป็นบุตรบุญธรรมของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล และเตรียมการที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ขึ้นอีกครั้ง แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกรัฐประหารเสียก่อน ขณะเดียวกันนโยบายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ยึดตามสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ต้องเว้นระยะห่างไปอีกหลายสิบปี ใครที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนจะถูกตั้งกรรมการสอบสวน เช่น กรณีกบฏสันติภาพ เป็นต้น
(วรรณไว พัธโนทัย เข้าพบนายกโจวเอินไหล บิดาบุญธรรม)
จนเมื่อการปกครองสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ในยุค “ประชาธิปไตยแบบพ่อขุน” เสื่อมลงภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 และการผ่อนปรนความเข้มงวดในการคบหากับจีนของสหรัฐอเมริกา โดยมีที่มาจาก “การทูตปิงปอง” ที่นำไปสู่การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ประเทศอื่นๆ สถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
(ประธานาธิปดีริชาร์ด นิกสัน ขณะเข้าพบ ประธานเหมา)
สำหรับประเทศไทย เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงแล้ว ในยุคสมัยที่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ทำการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ขึ้นอีกครั้ง โดย ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งลงนามในหนังสือความสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2518
(ภาพขณะลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน)
นอกจากการเยือนอย่างเป็นทางการแล้ว ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังได้เข้าพบกับรองนายกรัฐมนตรีเติ้งเสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล และประธานเหมาเป็นระยะเวลานานถึง 58 นาที ซึ่งภายหลัง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ได้บอกเล่าเหตุการณ์การพบกับประธานเหมาในครั้งนั้นอย่างละเอียดว่า ผู้ที่เข้าพบกับประธานเหมามี 4 คน คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายประกายเพ็ชร์ อินทุโสภณ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
หลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา การค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีนก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ และเมื่อประเทศจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงอันดับหนึ่งของโลก ก็ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลดีไปด้วย เพราะวัฒนธรรมและทำเลที่ตั้งได้เปรียบกว่าประเทศอื่น