4 สิ่งล้ำค่าในห้องหนังสือ
ตั้งแต่โบราณกาลมาเวลาคนจีนเขียนตัวอักษรศิลปะ หรือ ซูฝ่า (书法) หรือวาดภาพจิตรกรรมจีนประเพณี หรือ กว๋อฮั่ว (国画) จะขาดเครื่องเขียนอย่าง กระดาษ หมึก พู่กันและจานฝนหมึก ไปไม่ได้ เครื่องเขียนทั้ง 4 ประเภทนี้ได้รับการขนานนามว่า “สิ่งล้ำค่าในห้องหนังสือทั้งสี่" (文房四宝)
สิ่งล้ำค่าในห้องหนังสือทั้งสี่นั้นมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ กระดาษซวนจื่อ หมึกฮุยม่อ พู่กันหูปี่และจานฝนหมึกตวนเอี้ยน
กระดาษซวนจื่อ (宣纸)
ผลิตที่บริเวณใกล้กับเมืองซวนเฉิง มณฑลอันฮุย เนื้อกระดาษซวนจื่อมีสีขาว ละเอียดและอ่อนนุ่ม มีความเหนียวและซับน้ำได้ดี ทำให้สามารถแสดงลักษณะเด่นของศิลปะการเขียนพู่กันและภาพวาดออกมาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กระดาษซวนจื่อยังเก็บไว้ได้นานไม่ผุเปื่อยง่าย ไม่เปลี่ยนสีจึงเก็บไว้ได้เป็นร้อยปีพันปีไม่เสียหาย
หมึกฮุยม่อ (徽墨)
ผลิตที่เมืองฮุยโจว มณฑลอันฮุย ผลิตครั้งแรกในราชวงศ์ถังถึงปัจจุบัน ภายในหมึกนั้นมีส่วนผสมของยาจีนและเครื่องหอมที่มีชื่อ บางครั้งก็จะผสมกับทองคำ ดังนั้นหมึกชนิดนี้ไม่เพียงแต่จะมีสีดำวาวนวล แต่จะมีกลิ่นหอมกรุ่น และสามารถเก็บรักษาไว้ใช้งานได้นานเป็นสิบปีเลยทีเดียว
พู่กันหูปี่ (湖笔)
การทำพู่กันนั้นต้องผ่านกรรมวิธีถึง 70 วิธี ใช้ขนแกะ กระต่าย และอีเห็นมาทำเป็นขนพู่กันที่อ่อนนุ่ม และทำให้ปลายเรียวแหลม สามารถกำหนดขนาดของเส้นที่เขียนวาดได้ และเมื่อแห้งสนิทปลายพู่กันต้องยังคงสภาพเดิม โดยพู่กันหูปี่นั้นผลิตอยู่ที่เมืองหูโจว มณฑลเจ้อเจียง มีคุณสมบัติ 4 ประการ “ปลายแหลม ขนเรียบ หัวกลมสวย และแข็งแรง”
จานฝนหมึกตวนเอี้ยน (端砚)
จานฝนหมึกใช้เป็นที่เก็บกักน้ำหมึก ด้วยการฝน “แท่งหมึก” บดเข้ากับ “จานฝนหมึก” ละลายเข้ากับน้ำจนหมึกและน้ำเข้ากัน จานฝนหมึกตวนเอี้ยนทำจากหินตวนสือของเขตตวนซี เมืองเจ้าชิ่ง มณฑลกวางตุ้ง ความพิเศษของจานฝนหมึกชนิดนี้คือ ง่ายต่อการฝนหมึก น้ำหมึกไม่แห้งเป็นเกร็ดง่าย
กระดาษ หมึก พู่กัน และจานฝนหมึก เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้วัฒนธรรมจีนและศิลปะการเขียนพู่กันและการวาดภาพของจีนพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ ผู้คนจึงยังคงเรียกขานสิ่งเหล่านี้ว่า “สิ่งล้ำค่าในห้องหนังสือทั้งสี่”
ที่มา วารสารนานมีนิวส์ ฉบับที่ 12
ภาพประกอบจาก Internet