หลังจากได้รู้จักตำนานที่เกี่ยวข้องกับ “เทศกาลไหว้พระจันทร์” หรือ “จงชิวเจี่ย” (中秋节) กันไปในตอนที่แล้ว วันนี้มาดูกันต่อว่า พิธีการไหว้พระจันทร์ต้องทำอย่างไร และต้องใช้อะไรในการจัดโต๊ะสักการะบ้าง
ประวัติการไหว้พระจันทร์
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ ยังคงไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด บ้างก็ว่าจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ (漢文帝) แห่งราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้ริเริ่มการฉลองเพื่อกราบไว้พระจันทร์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 กลางฤดูใบไม้ร่วง
ขณะที่บางประวัติศาสตร์กล่าวว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ เกิดขึ้นในปลายสมัยราชวงค์ซ่ง ช่วงต้นของราชวงค์หยวน เป็นช่วงที่มองโกลเข้ายึดครองแผ่นดินจีนและบังคับให้คนจีน 3 ครอบครัวต้องเลี้ยงดูคนมองโกลอย่างดี 1 คน โดยริบอาวุธของคนจีนไปทั้งหมดและอนุญาตให้มีได้เพียงมีดหั่นผัก 1 เล่ม แต่ใช้ร่วมกัน 3 ครอบครัว ชาวจีนผู้รักเสรีภาพทนความกดขี่ไม่ไหวจึงเกิดความคิดที่จะกู้ชาติ มีการแอบตั้งขบวนการใต้ดิน และมีการนัดแนะกันลุกฮือขึ้นมาฆ่าพวกมองโกล ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คิดให้จัดงานไหว้พระจันทร์ขึ้นมาบังหน้า มีการทำขนมไหว้พระจันทร์ที่จงใจออกแบบให้เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษเพื่อใช้เป็นที่ซ่อนเอกสารในการติดต่อ แล้วให้มีธรรมเนียมแลกขนมเปี๊ยะกันระหว่างญาติมิตร ซึ่งนับว่าเป็นการตบตาพวกมองโกลได้อย่างแนบเนียน ภายในสารระบุเวลากำจัดชาวมองโกลว่าเป็นช่วงเที่ยงคืนของวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นคืนที่กำหนดให้มีงานไหว้พระจันทร์ และในคืนนั้นเอง ชาวจีนทุกบ้านก็พร้อมใจกันจัดงานไหว้พระจันทร์ พอถึงเที่ยงคืนก็มีการตีเกราะเคาะไม้ส่งสัญญาณแก่กันว่าได้เวลาแล้ว ทุกครอบครัวก็พร้อมใจกันรุมฆ่าชาวมองโกลด้วยมีดหั่นผักที่มีอยู่เล่มเดียวนั่นเอง
เมื่อได้เอกราชคืนมา ชาวจีนจึงยึดถือเอาวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันไหว้พระจันทร์สืบต่อมาเพื่อรำลึกถึงการกู้ชาติจากพวกมองโกล เทศกาลไหว้พระจันทร์ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นที่นิยมไหว้กันอยู่ พอตกเย็นของคืนวันเพ็ญเดือน 8 ชาวจีนจะเริ่มตั้งโต๊ะไหว้ที่กลางแจ้ง เพื่อทำพิธีไหว้พระจันทร์ สิ่งของที่นำมาไหว้ก็มี ขนมเปี๊ยะและส้มโอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายหัวคน เป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ถูกฆ่าตัดหัวในการลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติครั้งนั้น
การไหว้พระจันทร์
ในอดีต ชายชาวจีนจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากเชื่อว่าพระจันทร์เป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ขณะที่ผู้ชายถือเป็นธาตุหยาง จึงให้ผู้หญิงเป็นคนกราบไหว้ ต่างจากปัจจุบันที่ผู้ชายและผู้หญิงสามารถไหว้พระจันทร์ได้เช่นเดียวกัน
การไหว้พระจันทร์ จะเริ่มต้นในช่วงหัวค่ำซึ่งพระจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า แม้ว่าปีไหนหรือสถานที่ใดจะมองไม่เห็นพระจันทร์ แต่ชาวจีนทั่วโลกก็ยังคงไว้พระจันทร์ในค่ำคืนนั้นไม่เปลี่ยนแปลง โดยพิธีจะดำเนินไปจนเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 4-5 ทุ่ม จากนั้นสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดก็มาร่วมวงกินขนมไหว้พระจันทร์ที่ต้องนำมาตัดแบ่งให้เท่ากับจำนวนสมาชิก ห้ามขาดหรือเกิน และทุกชิ้นต้องมีขนาดเท่า ๆ กัน ขนมไหว้พระจันทร์จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความสามัคคีและความกลมเกลียวของครอบครัว รูปลักษณ์ของขนมไหว้พระจันทร์จึงต้องทำเป็นก้อนกลมเท่านั้น
ขนมไหว้พระจันทร์หรือของไหว้พระจันทร์
"เยว่ปิ่ง" (月饼) หรือ "ขนมไหว้พระจันทร์" (Moon Cake) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการไหว้พระจันทร์ มีลักษณะเป็นก้อนกลม สอดไส้หวานหรือธัญพืชที่มีรสหวานเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับมีการเพิ่มไส้ต่าง ๆ ให้ขนมหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ไส้หมูแฮม ไส้หมูแดง ไส้หมูหยอง รวมถึงไส้อื่น ๆ ที่มีรสเปรี้ยวและเค็ม กระนั้นก็ไม่ได้มีความหมายใด ๆ เป็นพิเศษมากไปกว่าการเป็น “ขนม” หรือ “ขนมไหว้พระจันทร์” ที่รับประทานเพื่อความอร่อยในคืนวันพิเศษเท่านั้น โดยจะมีการจำหน่ายล่วงหน้าก่อนวันไหว้พระจันทร์ประมาณ 1 เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขนมไหว้พระจันทร์ก็ไม่ใช่เครื่องเซ่นไหว้หลักที่อยู่บนโต๊ะบูชา
เครื่องเซ่นไหว้ที่ถูกต้องตามประเพณีนั้นล้วนสำคัญและมีความหมายแฝงเอาไว้ เพราะนอกจากขนมไหว้พระจันทร์ที่มีลักษณะกลมเหมือนดวงจันทร์ เพื่อบ่งบอกถึงความกลมกลึงของชีวิตแล้ว ยังต้องมีอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ ธูปเทียน และที่แปลกแต่จริงของการบูชาพระจันทร์นี้ก็คือ การเพิ่ม "เครื่องสำอางและของใช้ส่วนตัวผู้หญิง" ในรายการของเซ่นไหว้ด้วย โดยเชื่อว่าเป็นการเสริมเรื่องเสน่ห์ ความงดงาม บ้างก็ไหว้ด้วยกระเป๋าสตางค์ แก้วแหวนเงินทอง เพื่อให้มีความอยู่ดีกินดี มีเงินทองมากมาย และที่ขาดไม่ได้ก็คือโคมไฟ เพื่อชีวิตที่สว่างสุกใส ในการตั้งโต๊ะเซ่นไหว้สามารถทำได้ทั้งที่ลานหน้าบ้านหรือดาดฟ้า โดยจะมีการทำซุ้มต้นอ้อย จัดพร้อมธูปเทียน กระดาษเงินกระดาษทองที่พับเป็นรูปเงินของจีน โคมไฟ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี วิธีการจัดโต๊ะของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปและไม่มีการกำหนดเป็นแบบแผนตายตัว ขึ้นอยู่กับสิ่งที่หาได้และผลไม้ที่มีในท้องถิ่น ซึ่งหากเป็นผลไม้ก็จะเน้นชนิดที่ผลกลม เพื่อความกลมกลึงของชีวิตและหมายรวมถึงความกลมของพระจันทร์วันเพ็ญอีกด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว ความสำคัญของเทศกาลไว้พระจันทร์ก็ไม่ได้อยู่ที่เครื่องเซ่นไหว้ราคาแพงหรือขนมไหว้พระจันทร์ แต่อยู่ที่ความสามัคคีกลมเกลียวในครอบครัวตามที่บรรพบุรุษตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก เพราะอย่างน้อยที่สุดเทศกาลไหว้พระจันทร์ก็เป็นเพียงวันดีที่สุดอีกวันหนึ่งในรอบปีที่สมาชิกในครอบครัวจะได้กลับมานั่งรับประทานอาหารร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตานั่นเอง
ภาพประกอบจาก... www.web07.cn, www.tuku.cn
เรียบเรียงโดย... สำนักพิมพ์ทองเกษม